ทำความรู้จักโหมดสี RGB กับ CMYK


     เรามักประสบปัญหาว่าทำไมงานพิมพ์จริงที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ทจึงมีสีบางสีในภาพพิมพ์ผิดเพี้ยนไปจากภาพที่เห็นบนจอคอมพิวเตอร์เวลาเราออกแบบ อีกทั้งเจอะเจอคำว่า RGB และ CMYK นั้นคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร และจะเลือกใช้อย่างไร บทความนี้ผมจะกล่าวถึงเรื่องของสี RGB และ CMYK ว่าใช้งานอย่างไร และแตกต่างกันอย่างไร
                                         แม่สี RGB กับ CMY 
ทำความเข้าใจกับแสงสีและหมึกพิมพ์

    ภาพที่เรามองเห็นจากจอคอมพิวเตอร์นั้นเป็นภาพที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงของแสงสี 3 สี คือ แสงสีแดง (Red) แสงสีเขียว (Green) และแสงสีน้ำเงิน (Blue) หรือเรียกว่า RGB ซึ่งเป็นแม่สีของแสง แสงสีทั้งสามจะส่องมาที่จอภาพ และเกิดการการผสมของแสงสี ณ จุดแต่ละจุดบนจอตามปริมาณของแสงที่ต่าง ๆ กัน ทำให้เกิดเป็นสีต่าง ๆ มากมายบนจอคอมพิวเตอร์  และเมื่อแสงสีทั้งสามมาผสมกันด้วยปริมาณแสงที่เท่ากันจะเกิดเป็นแสงสีขาว หรือที่เรียกว่า Additive Primary Colors 
    ส่วนภาพพิมพ์ที่ปรากฏบนแผ่นกระดาษขาวเป็นภาพที่เกิดจากการที่แสงสีขาวส่องทะลุชั้นของหมึกพิมพ์ 4 สี คือสีเหลือง (Yellow) สีชมพู (Magenta) สีฟ้า (Cyan) และสีดำ (Black) สะท้อนผิวกระดาษขาวแล้วจึงเข้าสู่ตาของเรา สีทั้งสี่เมื่อมีปริมาณของหมึกแต่ละสีต่าง ๆกันในบริเวณเดียวกันจะทำให้เกิดเป็นสีต่าง ๆ มากมาย สีทั้งสี่ หรือที่เรียกว่า CMYK ถือเป็นแม่สีสำหรับงานพิมพ์ ตามทฤษฎีแล้ว เมื่อนำหมึก 3 สี คือสีเหลือง สีชมพู และสีฟ้ามาทับกัน จะได้เป็นสีดำ จึงเรียกว่า Subtractive Primary Colors แต่ในความเป็นจริงเมื่อนำ 3 สีดังกล่าวมาทับกันจะได้สีเทาน้ำตาล ซึ่งเป็นเพราะความไม่บริสุทธิ์ของสารที่นำมาทำหมึก ดังนั้นในการพิมพ์จึงต้องนำหมึกสีที่ 4 คือสีดำมาช่วย เราจึงเรียกว่าเป็นการพิมพ์ 4 สี
อาณาบริเวณของสี
อาณาบริเวณของสี (Gamut)

    ในปี ค.ศ. 1928 W.D. Wright และ J. Guild ได้ประสบความสำเร็จในการตรวจวัดคลื่นแสง ซึ่งต่อมาได้มีการจัดทำผังที่เรียกว่า Color Spectrum Chart ผังดังกล่าวจะแสดงสีทั้งหมดที่ตามนุษย์สามารถรับรู้ได้

    เมื่อทำการจัดอาณาบริเวณของสีที่ปรากฏได้ในระบบ RGB (RGB Gamut) มาเทียบกับอาณาบริเวณของสีที่ปรากฏได้ในระบบ CMYK (CMYK Gamut) บน Color Spectrum Chart จะพบว่า มีส่วนที่บริเวณที่เหลื่อมกันอยู่ นั่นคือหากมีการแปลงค่าของสีบางสีที่สามารถแสดงได้ในระบบ RGB แต่อยู่นอกบริเวณของสีในระบบ CMYK จะไม่สามารถได้ค่าของสีเดียวกันในระบบ CMYK  ด้วยเหตุดังกล่าว สีบางสีของภาพที่เห็นบนจอ monitor เมื่อถูกนำไปพิมพ์บนกระดาษแล้วจะได้สีที่ผิดเพี้ยนไป
ภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังจากแปลงจาก RGB mode ไปเป็น CMYK mode
 การเลือก color mode ในการใช้งาน

    ในการทำงานและออกแบบโดยใช้โปรแกรมกราฟฟิคต่าง ๆ ท่านสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง RGB color mode หรือ CMYK color mode ก็ได้ แต่ถ้าใช้ RGB color mode เมื่องานเสร็จสิ้นก่อนส่งให้โรงพิมพ์ให้แปลง file งานเป็น CMYK color mode และให้ตรวจดูคุณภาพของภาพและสีสัน ประโยชน์ของการทำงานในระบบ RGB คือ ขนาดของ file งานใน ระบบ RGB มีขนาดเล็กกว่า file งานในระบบ CMYK ด้วยขนาด file ที่เล็กกว่าจะทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้น และอาณาบริเวณของสี ในระบบ RGB กว้างกว่าในระบบ CMYK หากทำงานในระบบ CMYK จะทำให้สูญเสียค่าของสีหากนำไปใช้งานอื่น ๆ เช่นนำไปใช้ใน web site นอกจากนี้ filter หลาย ๆ ชุดทำงานได้เฉพาะในระบบ RGB เท่านั้น หากต้องการตรวจสอบภาพในระบบ CMYK ในระหว่างทำงาน ก็สามารถทำได้โดยใช้คำสั่ง CMYK preview หรือ กด ‘Crtl’ กับ ‘Y’ หรือตรวจจากคำสั่ง ‘Gamut Warning’ สิ่งหนึ่งที่พึงระวังอย่างยิ่ง คือให้หลีกเลี่ยงการแปลงกลับไปมาระหว่าง ระบบ RGB กับ CMYK หลาย ๆ ครั้ง นั่นจะทำให้รายละเอียดของภาพสูญเสียไป สีสันของภาพจะผิดเพี้ยนไป

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ5/11/56 00:46

    ของถามหน่อยนะ ว่าค่า RGB 0-255 มีหน่วยเป็นอะไร

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

How to Illustrator วิธีสร้างเงาตัวหนังสือใน Illustrator

มารู้จักภาพแบบ Raster กับ Vector

คอมโพส ในงานกราฟฟิก